<Jaturapad>

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

EducationNews

“ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง” นโยบายใหม่ที่จะนำมาใช้ในแผนปฏิรูปการศึกษา

ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ช่วยยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร

นโยบาย ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง ที่จะนำมาใช้ในแผนปฏิรูปการศึกษาแนวทางใหม่ ซึ่งโดยภาพรวมหลายคนฟังแล้วอาจจะยังมีข้อสงสัยว่า ทั้ง 3 ส่วนจะช่วยยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร โพสต์นี้จะขออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพไปด้วยกัน

“ปลดล็อก” โดยพื้นฐานแล้วคือการปลดล็อกในส่วนของกฎหมายและระเบียบราชการต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้การทำงานภายในไม่ไหลลื่นและการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเป็นไปได้ยาก เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเกิดเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อลดข้อจำกัดในกระบวนการทำงานลง ภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมก็จะสามารถช่วยกันบริหารการศึกษาของประเทศได้ลึกและกว้างขึ้น รวมถึงการทำงานของบุคลากรในสถานศึกษาก็จะรวดเร็ว กระชับ และฉับไวด้วย นอกจากนี้การปลดล็อกบางอย่างยังช่วยให้ครูโฟกัสกับการสอนและถ่ายทอดความรู้ได้ดีมีประสิทธิภาพขึ้น

“ปรับเปลี่ยน” คือการพัฒนาการศึกษาไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ เพราะโลกเราหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความต้องการของตลาดแรงงานและสังคมก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นการศึกษาจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ โดยเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนแรกคือปรับหลักสูตรการเรียนการสอน จากหลักสูตรมาตรฐาน Standard ที่ใช้ไม้บรรทัดอันเดียววัดทุกคนเหมือนกันหมด เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถและศักยภาพ หรือ Competency เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสพัฒนาความสามารถไปตามเส้นทางอาชีพที่ตนเองสนใจ และที่สำคัญคือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

ในส่วนของครูและบุคลากรทางการศึกษา เป้าหมายของเราคือ อยากได้คนเก่งมาเป็นครู อยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้บริหาร ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรครูและหลักสูตรผู้บริหาร ให้สอดคล้องกับความต้องการ จากเดิมที่พัฒนาครูและบริหารด้วยการส่งไปอบรมเพิ่มความสามารถแบบรายชั่วโมงจากภายนอก ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่สถานศึกษาต้องการและไม่ได้ความรู้ในเชิงลึก จะเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่าน ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) ที่จัดตั้งขึ้นภายในเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้ครูสามารถ Upskill และ Reskill ของตนเองได้ตลอด ซึ่งเมื่อครูไม่หยุดหาความรู้และเก่งขึ้น ก็จะสามารถสอนนักเรียนให้เก่งได้

“เปิดกว้าง” คือการเปิดเสรีทางการศึกษา ให้เอกชนที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา ไม่เพียงร่วมกับภาครัฐในการบริหารสถานศึกษา แต่ยังสามารถสร้างสรรค์และนำเสนอหลักสูตร เนื้อหาการเรียนการสอน รวมถึงร่วมประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กผ่านช่องทางหรือกลไกขับเคลื่อนการศึกษาต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาจัดเตรียมไว้ เช่น ร่วมพัฒนาหลักสูตรสำหรับครูและนักศึกษาอาชีวะให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน ผ่าน ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลด้วยความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) และแชร์หลักสูตรหรือเนื้อหาการเรียนรู้ผ่าน แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP) เพื่อให้นักเรียนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศได้เห็นเนื้อหาการเรียนรู้ที่น่าสนใจจากบริษัทหรือองค์กรซึ่งจะเป็นผู้จ้างงานในอนาคต

นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนในวิถีที่สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมซึ่งแตกต่างกันไป โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำ “คู่มือมาตรฐานโรงเรียน” เพื่อกำหนดว่าทุกโรงเรียนต้องมีพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ปลอดจากยาเสพติด ปลอดจากการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นโรงเรียนสีขาว โรงเรียนปลอดภัย นอกเหนือจากนั้นบางโรงเรียนจะบริหารจัดการให้คล้อยตามบริบทและสภาพแวดล้อม เช่น หากเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกกาแฟ นักเรียนควรต้องเรียนรู้เรื่องกาแฟด้วย เป็นต้น ในส่วนของวิทยาลัยจะเปิดกว้างเพื่อความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เน้นเรื่องของวิชาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้จบมาแล้วมีงานทำทันที ลดปัญหาการว่างงาน

ที่มา:

          การศึกษายกกำลังสอง. (2563). ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง ช่วยยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศได้อย่างไร. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2563. จาก https://www.facebook.com/ThaiEdEcoSystem/posts/164201298631082.